นอนกระตุก

(Hypnic Jerk)

                อาการที่เกิดขึ้นในระหว่างการนอนหลับ เช่น การนอนกระตุกคล้ายตกเหวเเล้วสะดุ้งตื่นซึ่งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วในขณะที่นอนหลับมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเเละสามารถเกิดจากหลากหลายสาเหตุ

                นอนกระตุก (Hypnic Jerk) หรือที่บางครั้งเรียกว่าอาการเหมือนตกจากที่สูงซึ่งในบางคนอาจมีอาการรุนเเรงถึงขั้นฟาดเเขนฟาดขาหรืออาจจะกระตุกทั้งตัว ทำให้มีผลกับการนอนหลับทางการเเพทย์มักเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Hypnic เป็นการกระตุกเเบบ Myoclonic เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อในร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป เช่น การสะอึกหรือการกระตุกของเเขน ขาตอนที่นอนหลับ สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นพบว่ามักมีอาการกระตุกขณะที่นอนหลับมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายร้ายเเรงเเละไม่ส่งผลต่อสุขภาพ

                จากข้อสันนิษฐานของ Dr.Michael Breus ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับได้กล่าวไว้ว่า การนอนกระตุก อาจเกิดจากสมองมีการสื่อสารผิดพลาด คือในขณะที่กล้ามเนื้ออยู่ในภาวะผ่อนคลายพร้อมๆกันแต่สมองเข้าใจผิดคิดว่าร่างกายกำลังอ่อนเเรงทั้งขาเเละเเขนเเละจากงานศึกษาหลายชิ้นเชื่อว่า เกิดจากการที่ร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงหลับลึกกล้ามเนื้อเริ่มคลายตัวพร้อมๆกันการหายใจเริ่มช้าลง แต่สมองสับสนคิดว่าร่างกายกำลังอ่อนเเรงทั้งขาและเเขนทำให้ไม่สามารถยืนหรือนั่งได้ปกติจึงสั่งให้กลไกของร่างกายทำการป้องกันตัวคือทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเเละกระตุกอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งสมองจึงสร้างความรู้สึกคล้ายกับอาการของการตกจากที่สูง

                อาการนอนกระตุกถือว่าเป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่อระหว่างการตื่นเเละการนอนหลับโดยจากสถิติพบว่ามีคนมากถึง 70% ที่เคยมีอาการนอนกระตุกเช่นเดียวกับอาการสะอึกที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว

                สาเหตุของการนอนกระตุก

– ความเครียด ความวิตกกังวลก่อนการนอนหลับ การอดนอน

– เกิดจากโรคบางชนิดเช่น เบาหวาน ไต โรคเส้นเลือดในสมองตีบ

– การได้รับยาบรรเทาอาการซึมเศร้า

– ปฏิกิริยาที่สับสนของสมอง

– การออกกำลังกายในช่วงเวลาค่ำหรือใกล้เวลานอนหลับ

– คาเฟอีน

– บุหรี่

                นอกจากนี้อาการกระตุกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือลามไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายอาจเป็นอาการของโรคลมชักหรือความผิดปกติทางระบบประสาท การได้รับบาดเจ็บของศรีษะหรือกระดูกสันหลังหรือบอกถึงภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวในกรณีร้ายเเรงก็ได้ถึงเเม้ว่าอาการนอนกระตุกจะไม่ใช่อาการที่ร้ายเเรงแต่สามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างเพื่อป้องกันอาการนอนกระตุกหรือลดความถี่ให้เกิดน้อยลงได้ เช่น

– เปลี่ยนเวลาในการออกกำลังกายไม่ให้ใกล้เวลานอนมากเกินไป

– ลดปริมาณคาเฟอีนเเละงดคาเฟอีนในช่วงบายไปจนถึงก่อนนอน

– งดสูบบุหรี่เเละสารกระตุ้นอื่นๆอย่างเครื่องดื่มชูกำลัง

– งดเล่นเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ทเเละคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที

– ทำกิจกรรมผ่อนคลายเบาๆก่อนนอน เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือเป็นต้น

– หากคิดว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการยาที่ใช้ ควรปรึกษาเเพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่

                 หากทำตามวิธีการข้างต้นเเล้วอาการไม่ลดลงหรือรุนเเรงจนกระทบต่อชีวิตประจำวันควรไปปรึกษาเเพทย์โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

                การนอนกระตุก (Hypnic jerk) อาจขัดจังหวะการนอนแต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายเเรงเเละไม่ส่งผลกับสุขภาพ แต่หากมีอาการเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนมีผลกระทบกับการนอนหลับควรไปปรึกษาเเพทย์เนื่องจากอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาวได้

Share this :